อายุเท่ากันแต่แก่ไม่เท่ากัน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1
กันยายน 2558

Photo by Matteo Vistocco on Unsplash

          เวลาพบเพื่อนเก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกัน ท่านรู้สึกไหมว่าทำไมบางคนจึงดูแก่กว่าบางคนอย่างเห็นได้ชัด บางคนก็ดูแก่คงที่หรือหนุ่มสาวคงที่ ท่านมิได้รู้สึกเอาเองหรอกครับ มีงานวิจัยที่พบว่ามนุษย์มีอัตราการแก่ที่ไม่เท่ากัน

          “อายุเป็นเพียงตัวเลข” เป็นวลีปลอบใจ ส.ว. (ผู้สูงวัย) ซึ่งปัจจุบันเรียกกันอีกอย่างว่า ปสช. (ผู้มีประสบการณ์ชีวิต) แต่งานวิจัยหลายชิ้นกำลังบอกว่ามันเป็นความจริง กล่าวคือมนุษย์มีสองตัวเลขซึ่งได้แก่อายุตามจำนวนปีที่อยู่บนโลกนี้ (Actual Age___AG) และอายุเชิงชีวะ (Biological Age___BA) บางคนอาจแก่ (อย่างไรก็หนีคำนี้ไม่ได้) หรือมี AG สูงแต่ BA ต่ำกว่าก็เป็นได้ (ร่างกายยังแข็งแรงโดยไม่แก่ไปตามวัย) หรือบางคนมี BA สูงกว่า AG กล่าวคืออายุก็อาจไม่มากนักแต่ร่างกายแก่กว่าวัย

          งานวิจัยที่พิสูจน์ว่ามนุษย์แก่ในอัตราที่ไม่เท่ากันตีพิมพ์ใน Proceedings of the National Academy of Sciences ซึ่งกล่าวถึงในหนังสือพิมพ์ International New York Times เมื่อไม่นานมานี้ ผู้วิจัยต้องการศึกษาอัตราการแก่ของมนุษย์โดยใช้หญิงชายรวม 954 คน ทุกคนจะได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดตอนอายุ 26, 32, และ 38 ปี และนำข้อมูลสุขภาพร่างกายมาวิเคราะห์ว่าเมื่อข้ามเวลาไป 6 และ 12 ปี แล้ว อายุเชิงชีวะ (BA หรือสภาวะของคนทั่วไปเชิงชีวะตามนัยของอายุ) เป็นเท่าใด

          เมื่อเอาข้อมูล AG กับ BA ของแต่ละคนมาเปรียบเทียบกันข้าม 6 และ 12 ปี ก็พบว่าแต่ละคนมีอายุเชิงชีวะแตกต่างกัน บางคนก็มี BA ต่ำกว่าอายุจริง (อัตราแก่ช้า) บางคนก็มี BA สูงกว่าอายุจริง (อัตราการแก่สูง)

          นอกจากพิสูจน์ว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” แล้ว ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ที่จะค้นหาว่าอะไรเป็นตัวชี้บอกว่ากำลังแก่เร็วกว่าอายุจริง หากทราบว่าเมื่อใดที่จะถึงจุดแก่ซึ่งอาจเป็นเวลาหลายทศวรรษอันเป็นผลจากการป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน หรือเจ็บป่วยเรื่องปอด (โรคไหนที่ทำให้แก่เร็วกว่ากัน?) ก็อาจสามารถช่วยชะลอความแก่ได้บ้าง

          คำจำกัดความของ “ความแก่” ที่ผู้วิจัยใช้ก็คือความเสื่อมของหลายระบบการทำงานของอวัยวะโดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า biomarkers (ตัวชี้เชิงชีวะ เช่น ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ฯลฯ) ถึง 18 ตัว

          นอกจากนี้ยังพบว่าส่วนใหญ่ของกลุ่มทดลองจะแก่ขึ้นหนึ่งปีของอายุเชิงชีวะต่อ ทุกหนึ่งปีของอายุจริง (แก่ขึ้นตามวัยเหมือนคนทั่วไป) อย่างไรก็ดีมีบางคนที่แก่ขึ้น 3 ปีของอายุเชิงชีวะต่อทุก 1 ปี ของอายุจริง (ความแก่เร่งขึ้นราวสปีดของบิ๊กไบค์) และบางคนอายุเชิงชีวะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดระยะเวลา 12 ปีของการทดลอง และเมื่อแปรเปลี่ยนเป็นการคำนวณโดยอาศัยการวิเคราะห์ biomarkers แล้วก็พบว่ากลุ่มทดลองนี้มีอายุเชิงชีวะระหว่าง 28 ถึง 61 ปี ในขณะที่มีอายุจริง 38 ปี

          งานศึกษาความแก่นี้ทำให้ได้ biomarkers 18 ตัว มาเป็นตัวชี้วัดสุขภาพซึ่งครอบคลุม 8 ด้านด้วยกันอันได้แก่ (1) ความฟิตของร่างกายโดยส่วนรวม (วัด BMI หรือดัชนีซึ่งเท่ากับความสูงเป็นเมตรหารด้วยน้ำหนักเป็นกิโลกรัมยกกำลังสอง วัดรอบเอว ความฟิตของการทำงานของระบบหายใจ) (2) สุขภาพหัวใจ (ระดับสัดส่วนโคเรสตอรอลชนิดดี HDL และชนิดเลว LDL) (3) ความเสี่ยงจากโรคเบาหวาน (ระดับน้ำตาลในเลือดโดยรวมข้ามระยะเวลา) (4) การทำงานของปอด (วัด FEV หรือปริมาณอากาศที่ขับออกมาจากปอด) (5) สุขภาพฟัน (ฟันเสียเรื้อรังนำไปสู่ความเสี่ยงในการมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ) (6) การอักเสบ (จำนวนเม็ดเลือดขาวและระดับ C-reactive protein) (7) การทำงานของตับและไต (ตรวจสอบว่าร่างกายกำจัดของเสียได้ดีเพียงใด) และ (8) ความยาวของ Leukocyte telomere หรือความยาวของส่วนปลาย DNA (เมื่อร่างกายเสื่อมส่วนนี้ก็จะสั้นเข้า)

          การตรวจร่างกายโดยดูที่ biomarkers เหล่านี้จะทำให้สามารถเข้าใจวิธีชะลอความแก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตรวจสอบคู่ไปกับความสามารถในการทรงตัว เคลื่อนไหวประสานอวัยวะของร่างกาย แรงจับของมือ และความสามารถในด้านการคิดวิเคราะห์

          ผู้วิจัยพบด้วยว่าผู้ที่มีความเสื่อมสูงซึ่งวัดได้จากระดับของ 18 biomarkers ก็มักจะมีความสามารถในเรื่องต่าง ๆ ข้างบนนี้ต่ำลงไปด้วย การศึกษานี้ให้ความหวังว่า 18 biomarkers และการทดสอบเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ใช้กันทั่วไปในคลินิกทั่วโลกถึงแม้ว่าจะต้องมีการศึกษาทดลองมากกว่านี้เนื่องจากอาจมีความแตกต่างกันในกลุ่มประชากรอื่น ๆ ก็เป็นได้

          งานศึกษาจะช่วยชะลอความแก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการควบคุม biomarkers เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายด้วยวิธีการต่าง ๆ การนั่งสมาธิ บริโภคอาหารน้อยลง (โดยเฉพาะอาหารบางประเภท) วิถีการดำรงชีวิต การกินวิตามินหรือยาบางตัว ฯลฯ อนึ่งสำหรับพันธุกรรมผู้ศึกษาพบว่ายีนส์มีผลต่อความแก่ประมาณร้อยละ 20

          Nir Barzilai ผู้อำนวยการ Institute for Aging Research ที่ Albert Einstein College of Medicine ใน New York City บอกว่าการตรวจ biomarkers เหล่านี้เพื่อตรวจสอบความแก่จะช่วยประหยัดเงินได้อย่างมาก เช่น หากพบว่า BA เท่ากับ 50 ปี ถึงแม้อายุจริงคือ 60 ปี ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจร่างกายบ่อย ๆ เหมือนคนอายุ 60 ปี และสามารถมีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตที่ท้าทายได้ เช่น ปีนเขา ขับเครื่องบิน ดำน้ำ ฯลฯ

          Dr. Stephen Kritchevsky ผู้อำนวยการ Sticht Center on Aging ที่ Wake Forest Baptist Medical Center ในรัฐ North Carolina ระบุว่าความแข็งแรงของมนุษย์สูงสุดระหว่างอายุ 35 ถึง 40 ปี หลังจากนั้นโดยทั่วไปจะสูญเสียความแข็งแรงลงไปประมาณร้อยละ 1 ต่อปี อัตราการสูญเสียนี้จะเร่งตัวระหว่างช่วงอายุ 70-80 ปี การเดินได้เร็วของคนแก่เป็นตัวชี้ง่าย ๆ ของการมีสุขภาพในอนาคต การออกกำลังกายช่วยให้เดินได้เร็วขึ้นและการออกกำลังที่ต้องฝืนต้าน (เช่น ว่ายน้ำ) ช่วยความแข็งแรงได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับโยคะ ไทเก็ก ซึ่งช่วยความสามารถในการทรงตัว

          บ่อยครั้งการมีอายุเชิงชีววิทยาที่สั้นกว่าอายุจริงมาจากการทำสิ่งงดงามให้ผู้อื่นมากกว่าที่จะนึกถึงแต่ตนเอง และถึงแม้อายุจริงจะจบลงอย่างไม่ยืนยาว แต่ก็อาจมีมิติที่ลึกซึ้งเพราะได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากกว่าพวก “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *